สภาพทางสังคม
การศึกษา
จังหวัดชุมพรมีสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา 3 แห่ง คือ สถาบันเทคโนโลยีเจ้าคุณทหารลาดกระบัง วิทยาเขตชุมพร มหาวิทยาลัยแม่โจ้- ชุมพร และสถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตชุมพร ระดับอาชีวศึกษา 6 แห่ง และโรงเรียน 311 แห่ง แบ่งพื้นที่การศึกษาออกเป็นสองแห่ง ได้แก่
- เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 1 ครอบคลุม 3 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองชุมพร อำเภอปะทิว และอำเภอท่าแซะ
เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชุมพร เขต 2 ครอบคลุม 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอพะโต๊ะ อำเภอหลังสวน อำเภอละแม อำเภอสวี และอำเภอทุ่งตะโก
ศาสนา
ประชากรในจังหวัดชุมพรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ประมาณร้อยละ96.54 ของประชากรในจังหวัด นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ2.02 และศาสนาคริสต์ ร้อยละ1.44 โดยในจังหวัดชุมพรมีวัดอยู่จำนวน 245 วัด มีมัสยิด 6 แห่ง และมีโบสถ์คริสต์ 12 แห่ง
การสาธารณสุข
ในปี พ.ศ. 2554 จังหวัดชุมพรมีโรงพยาบาลทั้งหมด 12 แห่ง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลประเภทให้บริการทั่วไปทุกแห่ง มีเตียงผู้ป่วย1,149 เตียง มีแพทย์ 110 คน และมีพยาบาล 829 คน
กำลังแรงงาน
ประชากรและกำลังแรงงาน จากการสำรวจสภาวการณ์ทำงานของประชากรในจังหวัดชุมพรระหว่างไตรมาส 1 ปี 2553 โดยสำนักงานสถิติจังหวัดชุมพร มีประชากรทั้งสิ้น 501,185 คน เป็นผู้ที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป 393,275 คน โดยอยู่ในกำลังแรงงานประมาณ 304,214 คน จำแนกเป็นผู้มีงานทำ 301,863 คนผู้ว่างงานประมาณ 2,351 คน และผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน 89,061 คน
สำหรับแรงงานต่างด้าวตามมติคณะรัฐมนตรี เป็นแรงงานที่ได้รับอนุญาตให้มาทำงานเป็นการชั่วคราว 3 สัญชาติ ประกอบด้วย พม่า ลาว กัมพูชา เพื่อทดแทนแนงงานที่ขาดในจังหวัด มีจำนวน 21,566 คน จำแนกเป็นสัญชาติพม่า 20,481 คน ลาว 978 คน และกัมพูชา 107 คน
การคมนาคมขนส่ง
จังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดที่มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ตั้ง เนื่องจากตั้งอยู่ในจุดที่เป็นเส้นทางผ่านเชื่อมระหว่างภูมิภาค การติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่ง สามารถใช้ได้ทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ
- ทางบก
จากกรุงเทพมหานครเดินทางสู่จังหวัดชุมพร โดยรถยนต์ตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (เพชรเกษม) ระยะทางประมาณ 463 กิโลเมตร ส่วนการคมนาคมระหว่างจังหวัด จังหวัดชุมพรมีถนนสายหลักคือ ทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านแยกปฐมพรไปทางตะวันตกสู่จังหวัดระนอง พังงา ภูเก็ต และทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านชุมพร เลียบชายฝั่งตะวันออกไปยังจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดภาคใต้
ณ กลางปี 2548 จังหวัดชุมพรมีถนนเชื่อมโยงระหว่างหมู่บ้าน-ตำบล ในเขตอำเภอต่าง ๆ ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานทางหลวงชนบทชุมพร จำนวน 25 สายทาง ระยะทางรวม 375.151 กม. เป็นถนนลาดยางตลอดสาย 23 สายทาง อีก 2 สายทาง จะเป็นถนนลาดยางและลูกรังบางตอน คือ กม.71+100-บ้านพูนสุข อ.หลังสวน และสาย กม.494+960 – บ้านเขาตาสุก อ.เมืองชุมพร ทั้งนี้เส้นทาง ทุกสายสามารถใช้ได้โดยสะดวกทุกฤดูกาล ส่วนถนนที่ ตั้งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินจะเป็นถนนลูกรังทั้งหมดกระจายอยู่ในอำเภอต่าง ๆอีกจำนวน 127 สาย รวมระยะทาง 540.824 กม. สำหรับสายทางที่เหลือจะอยู่ในความรับผิดชอบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ แขวงการทางชุมพร
สำหรับทางรถไฟ สถานีรถไฟชุมพรอยู่ห่างจากสถานีรถไฟกรุงเทพฯ 485 กม. มีรถไฟเข้า-ออกสถานีรถไฟชุมพร วันละหลายขบวน เช่น ขบวนรถด่วน ขบวนรถเร็ว ขบวนรถด่วนพิเศษและขบวนรถธรรมดา
ทางน้ำ
ปัจจุบันการคมนาคมขนส่งทางน้ำในจังหวัดชุมพร มีท่าเทียบเรือโดยสารเพื่อการท่องเที่ยวจำนวน 8 ท่า เป็นท่าเทียบเรือของเอกชนขนาดตั้งแต่ 20 – 100 ตันกรอส์ เป็นท่าเทียบเรือสำหรับการท่องเที่ยวบริเวณชายฝั่งทะเล และเส้นทางเดินเรือโดยสารจากจังหวัดชุมพร ถึงจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณสองชั่วโมงครึ่งก็จะถึงเกาะเต่า เกาะนางยวน ของจังหวัดสุราษฎร์ธานี
ทางอากาศ
มีท่าอากาศยานเชิงพาณิชย์ จำนวน 1 แห่ง ตั้งอยู่ที่ตำบลชุมโค อำเภอปะทิว ห่างจากตัวเมืองชุมพะประมาณ 40 กิโลเมตร ปัจจุบันมีสายการบินจำนวน 2 สายการบินให้บริการ คือ สายการบิน Solar Air และสายการบิน Nok Air
|
|